แถลงการณ์นักอ่าน: เราต้องการเสรีภาพในการอ่าน
แถลงการณ์นักอ่าน
“เราต้องการเสรีภาพในการอ่าน เพราะเสรีภาพในการอ่านเป็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ในสังคมอารยะ”
ร่วมสนับสนุนนักเขียนที่ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112ฯ
สืบเนื่องจากการจับกุมดำเนินคดีกับคนจำนวนมากในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพทั้งโดยปิดลับและเปิดเผย ได้สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและเลือกที่จะเงียบของคนในสังคม กระทั่งเมื่อกลุ่มนักเขียนออกมาเคลื่อนไหวลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความ คิดเห็นทางการเมือง กลับเกิดกระแสข่าวเผาหนังสือ การล่าแม่มด การโจมตีใส่ไคล้นักเขียนกว่า 300 คนที่ร่วมลงชื่อดังกล่าว เราในฐานะนักอ่านทั้งเสรีชนทั้งคนในวงการหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างกังวล ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่ง เรามีความเห็นว่า
ประการแรก นักเขียนที่ร่วมลงชื่อมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นและแสดงความกังวลต่อการ จำกัดเสรีภาพของเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
ประการที่สอง การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเขียนเป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย การยัดเยียดข้อกล่าวหาหรือจัดกลุ่มแบ่งพวกโดยอาศัยการเมืองของการแบ่งสีแบ่งขั้ว ไม่อาจช่วยให้สังคมข้ามพ้นไปสู่การถกเถียงอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี ขึ้นได้
เราจึงขอเรียกร้องให้เพื่อนนักอ่านได้ใช้วิจารณญาณใคร่ครวญการกระทำของกลุ่ม นักเขียนที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและสังคมไทยเป็นสำคัญ เราหวังว่าเพื่อนนักอ่านจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของลัทธิคลั่งชาติคลั่ง สถาบันฯ อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะเราเชื่อว่านักอ่านมีวุฒิภาวะพอจะพิจารณาปัญหาทั้งปวงด้วยใจเป็นกลาง และเป็นธรรม
ที่สำคัญยิ่งกว่า เราในฐานะนักอ่านมองเห็นปัญหาของการใช้มาตรา 112 มาจำกัดเสรีภาพในการพิมพ์เผยแพร่ มีหนังสือจำนวนมากที่ตีพิมพ์แต่ไม่อาจเผยแพร่เพราะถูกกล่าวหาว่าเข้าข่าย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มิพักว่าการวินิจฉัยหรือตีความว่าข้อความในหนังสือเล่มใดผิดกฎหมายดังกล่าว กระทำไปโดยไม่มีมาตรฐานใดๆ ชัดเจน
เพื่อนนักอ่านจำนวนมากอาจยังไม่รู้ว่าที่ผ่านมามีการจับกุมดำเนินคดีกับ ผู้จัดพิมพ์หนังสือจำนวนไม่น้อย นับตั้งแต่การดำเนินคดีกับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสาร ฟ้าเดียวกัน การจับกุม สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหารนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ในฐานะแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย การจับกุม บัณฑิต อานียา นักเขียนนักแปลซึ่งนำเอกสารที่เขียนและทำสำเนาขึ้นเองไปจำหน่ายในงานสัมมนา เป็นต้น หรือกรณีล่าสุดที่มีการจับกุมชายชาวอเมริกันที่นำลิงก์หนังสือ “The King Never Smiles” ใส่ไว้ในบล็อกส่วนตัว โดยหนังสือเล่มดังกล่าวถูกสั่งห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรเนื่องจากมีเนื้อหา เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของไทย เช่นเดียวกับหนังสือ "The Revolutionary King” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 ก็ไม่ผ่านการตรวจพิจารณานำเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน
ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามีการจับกุมดำเนินคดีกับบรรดาคนขายหนังสือเล่มที่ ถูกระบุว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คนขายหนังสือเหล่านั้นล้วนเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยทำมาหากินสุจริตแต่กลับถูก ดำเนินคดีในมาตรา 112 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
กฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่รองรับความชอบธรรมของกฎหมายดังกล่าวก็คือจารีตที่ฝังลึกอยู่ในรัฐ ธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยโดยไม่เคยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้มาตรานี้กลายเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกให้ผู้คนจำนวนมากพร้อมใจ กันมาลงประชาทัณฑ์ผู้ละเมิดจารีตนี้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
มีหนังสือจำนวนมากที่ถูก “ต้องห้าม” ถูก “ห้ามอ่าน” นักอ่านต้องลงใต้ดินเพียงเพื่อจะได้อ่านหนังสือเพื่อเพิ่มพูนความรู้ เพื่อเปิดโลกทัศน์ เพื่อวิวาทะทางปัญญา ไม่เพียงหนังสือ หากแต่บทความ บทวิจารณ์ หรือข้อเขียนอื่นใดก็ตามที่ “จาบจ้วงล่วงเกิน” ต่อจารีตทางความคิดอันศักดิ์สิทธิ์นี้กลับต้องถูกเซ็นเซอร์ ห้ามเผยแพร่
เราอยากบอกผู้มีอำนาจทั้งหลายในบ้านเมืองนี้ ว่านักอ่านทุกคนล้วนมีวิจารณญาณของตนเอง การสั่งห้ามอ่าน ห้ามตีพิมพ์ ห้ามเผยแพร่ การบล็อกเว็บไซต์ การลบความเห็นในกระดานข้อความต่างๆ เท่ากับจำกัดเสรีภาพความเป็นมนุษย์ของนักอ่านอย่างร้ายแรง ยิ่งไปกว่านั้นวัฒนธรรมแบ่งปันกันอ่านในเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นช่องทาง การต่อยอดความรู้ที่ไม่พึงถูกจำกัดเสรีภาพใดๆ ทั้งสิ้น
นักอ่านทุกคนมีเสรีภาพที่จะได้อ่าน มีสิทธิที่จะได้รับรู้ว่าเหตุใดจึง “ห้ามอ่าน” และสุดท้ายสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ได้อ่านอย่างตรงไปตรง มา เพื่อให้เกิดการวิวาทะอันจะนำไปสู่การประเทืองปัญญาต่อไป
หากนักเขียนและบรรณาธิการถูกจำกัดเสรีภาพแล้วไซร้ นักอ่านเท่ากับถูกจำกัดเสรีภาพไปด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และยิ่งไม่อาจเรียกร้องแหกกระเชิงแก่ผู้ใดได้หากนักเขียนต้องเซ็นเซอร์ตัว เองในงานเขียน ยังไม่นับต้นทุนความรู้ที่เหล่านักอ่านต้องสูญเสียไปจากการไม่ได้อ่าน
เราในฐานะนักอ่านอยากเรียกร้องเพื่อนนักอ่านให้ออกมารวมพลังแสดงความสนับ สนุนนักเขียนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขมาตรา 112ฯ พร้อมตั้งคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่นักอ่านพึงมีในสังคม ประชาธิปไตย
กล่าวถึงที่สุด การพิมพ์หนังสือคือการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนทั้งทางความคิดและสังคม ฉันใด การจำกัดเสรีภาพในการพิมพ์ โพสต์ เขียน อ่าน ย่อมเป็นการทำลายความคิดและสังคมอย่างถึงรากถึงโคนฉันนั้น
ลงชื่อ
1. พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์
2. วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์
3. รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
4. ศรายุธ ตั้งประเสริฐ
5. นีรนุช เนียมทรัพย์
Comment