วอนรัฐบาลไทยคืนชีวิตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เรื่อง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนการเพิ่มคำว่า วิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ เข้าไปในมติสหประชาชาติว่าด้วยการประหัตประหาร นอกกระบวนการยุติธรรม โดยเร่งรัด หรือตามอำเภอใจ
เรียน ฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรี
เนื่องด้วย ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ได้มีการลงคะแนนในคณะกรรมการชุดที่สามแห่งสหประชาชาติ เพื่อถอดคำว่า "วิถีทางเพศ" ออกจากมติสหประชาชาติว่าด้วยการประหัตประหาร นอกกระบวนการยุติธรรม โดยเร่งรัด หรือตามอำเภอใจ (UN Resolution on Extrajudicial, Summary or Arbitrary Executions) โดยที่ตัวแทนของประเทศไทยงดออกเสียง ทำให้กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่อยู่ในกลุ่มผู้ที่ได้รับความคุ้มครองจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงลักษณะนี้อีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ต่อมาได้มีความพยายามในระดับระหว่างประเทศที่จะให้มีการเพิ่มคำว่า "วิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ" (sexual orientation and gender identity) เข้าไปในมติดังกล่าว ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในวันที่ 20 ธันวาคมที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีการลงบันทึกเจตนารมณ์เอาไว้เกี่ยวกับมาตรา 30 วรรค 3 ว่าการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศจะกระทำมิได้ โดยได้อธิบายคำว่าเพศไว้ว่า “ยังหมายรวมถึงความแตกต่างของบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (sexual identity) หรือเพศสภาพ (Gender) หรือความหลากหลายทางเพศ (Sexual diversity)แตกต่างจากเพศที่ผู้นั้นถือกำเนิดอยู่ด้วย” นอกจากนี้ในมาตรา 82 มีการกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ
เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ โครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ และองค์กรภาคี จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศออกเสียงสนับสนุนการเพิ่มคำว่า วิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (sexual orientation and gender identity)เข้าไปในมติดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับพันธะกิจภายในประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพันธะกิจด้านการต่างประเทศตามที่ได้ลงนามไว้ในตราสารระหว่างประเทศต่างๆ และแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนอันเท่าเทียมกัน
Comment